‘เงินเยนอ่อนค่า’ ใครได้-เสีย กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นรอบนี้
1 min read

‘เงินเยนอ่อนค่า’ ใครได้-เสีย กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นรอบนี้

Spread the love

“เงินเยนอ่อนค่า” ดัน ท่องเที่ยว – ส่งออก ญี่ปุ่นทุบสถิติสูงสุดในรอบหลายปี โดยตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงมี.ค. นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้เงินกว่า 1.75 ล้านล้านเยน (1.13 หมื่นล้านดอลลาร์) แม้กูรูกังวลในระยะยาวอาจกระทบการบริโภคในประเทศ

หลังจากเช้าเมื่อวันที่ 29 เม.ย.67 “ค่าเงินเยน” อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงทะลุ 160 เยนต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลงมากถึง 1.2% จนทุบสถิติต่ำสุดในรอบ 34 ปีหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.1% ในการประชุมครั้งล่าสุด ขณะที่วันนี้ ณ เวลา 11.05 น.ตามเวลาประเทศไทย ค่าเงินเยนทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 156.79 เยนต่อดอลลาร์หรือแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 0.28%

0.28%

ค่าเงินเยนเทียบกับดอลลาร์ (30 เม.ย.67)

จากสถานการณ์ทั้งหมด องค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization) ออกมาเปิดเผยว่า แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินเยนนั้นช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวสูงกว่าสามล้านคนในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดที่ทำได้ภายในหนึ่งเดือนซึ่งสูงกว่าสถิติที่สร้างไว้ในเดือนก.ค. 2019 โดยตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงมี.ค. นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายในประเทศไป 1.75 ล้านล้านเยน หรือ 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะที่ สมาคมห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เดือนที่แล้วยอดขายของห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 25 เดือนติดต่อกัน

ส่วนยอดขายสินค้าปลอดภาษี เพิ่มขึ้นเกือบ 50,000 ล้านเยน ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นยอดขายรายเดือนสูงสุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในปี 2014

ยาสูดะ โยโกะ เจ้าหน้าที่จากสมาคมห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น กล่าวว่า “ค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงเป็นข้อได้เปรียบอย่างมากสำหรับลูกค้าต่างชาติ”  อย่างไรก็ตาม “การอ่อนค่าของเงินเยนได้ถึงขีดจำกัดที่ยอมรับได้แล้ว สถานการณ์นี้อาจส่งผลต่อการซื้อสินค้าของลูกค้าในประเทศได้หากเงินเยนอ่อนค่าลงอีก”

 

เสียงเตือนจาก ‘กลุ่มผู้นำทางธุรกิจ’

แม้ว่าเงินเยนที่อ่อนตัวจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทส่งออก แต่ผู้บริโภคกลับเริ่มรู้สึกถึงแรงกดดันเนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัว

โดย คุโด โคชิโร่ ประธานบริษัทเคมีข้ามชาติอาซาฮี คาเซอิ (Asahi Kasei) กล่าวว่า แม้ว่าบริษัทของเขาจะได้รับผลกำไรจากเงินเยนที่อ่อนตัวในระยะสั้นแต่เขาก็กังวลเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาว

คาเซอิ

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงเวลาสั้นๆ การอ่อนค่าของเยนจะเป็นประโยชน์ต่อเรา แต่ในระยะกลาง เรื่องสำคัญคือมูลค่าของเงินเยนจะคงที่อยู่ในระดับนี้หรือไม่”

ทั้งนี้ เยนที่อ่อนค่าลงยังเป็นส่วนที่ผลักดันให้ราคาหุ้นในตลาดโตเกียวปรับตัวสูงขึ้นจากแรงซื้อในกลุ่มที่เชื่อมโยงกับกลุ่มส่งออกอย่างผู้ผลิตรถยนต์ จากการลดลงของเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ดัชนีหุ้นของตลาดหุ้นโตเกียวสูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2024

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ตลาดหุ้นที่กำลังเติบโตทำให้กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์มีกำไรเพิ่มขึ้น แต่โยชิดะ โคตะโระ ผู้อำนวยการ (ผอ.) ฝ่ายการเงินของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไดวะ ส่งเสียงเตือนถึงการอ่อนค่าของเงินเยนว่า

“เหตุการณ์ครั้งนี้มีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ แต่การลดลงของเงินเยนอย่างรุนแรงจะเป็นสาเหตุของการเพิ่มราคาสินค้า และบริการ โดยคาดว่าประสิทธิภาพของบริษัท และค่าแรงในปีนี้จะอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น แต่การลดค่าของเงินเยนอาจจะทำให้การบริโภคลดลง และเราต้องระวังสภาวะเงินเยนที่ผันผวนมากจนเกินไป”

เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า “เงินเยนที่อ่อนค่าเมื่อไม่นานมานี้ มีพื้นฐานมาจากการมองว่ามันยากที่จะลดความแตกต่างในอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเนื่องจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐซื้อเวลาเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย”

โดยเมื่อวานนี้ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงจากระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์มาอยู่ที่ต่ำกว่า 156 เยนต่อดอลลาร์ นักวิเคราะห์ประเมินว่าอาจเป็นเพราะบีโอเจเข้ามาแทรกแซงค่าเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับระบบการเงินในประเทศจากค่าเงินที่ผันผวน ทว่าคณะกรรมการนโยบายทางการเงินยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าได้เข้ามาพยุงค่าเงินหรือไม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *