โรคเบาหวานกำลังกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่น่ากังวลของคนไทย โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 3 แสนคนต่อปี ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยเบาหวานสะสมทั้งหมดพุ่งสูงถึง 3.3 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อย
ภัยเงียบร้ายแรงที่ซ่อนอยู่
ที่น่ากลัวของโรคเบาหวานคือ โดยมากผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการใด ๆ ในระยะแรก จนกว่าจะมีการตรวจสุขภาพประจำปี หรือมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษา นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคเบาหวานเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนผิดปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมสภาพลง
เลือกกินอย่างชาญฉลาด ลดเสี่ยงโรคเบาหวาน
การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการป้องกันและบรรเทาอาการโรคเบาหวาน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เลือกรับประทานอาหารดังต่อไปนี้เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด:
5 อาหารช่วยลดน้ำตาล
- ผัก เนื่องจากมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ แต่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหารที่ช่วยดูดซึมน้ำตาลที่ลำไส้เล็ก เป็นทั้งการควบคมได้ทั้ง น้ำตาล และคอเลสเตอรอลไปในตัว ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วควรกินผักให้มากกว่าปกติ จะทำสุก หรือทานแบบสดก็ได้
- อัลมอนด์ ประกอบด้วยโปรตีน แมกนีเซียม และใยอาหารที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ข้อแนะนำรับประทายเพียงวันละ 1 กำมือก็เพียงพอและต้องไม่ปรุงรสอย่างอื่น เช่น เกลือ อาจจะเสี่ยงเพิ่มโรคอื่นเพิ่ม
- ปลาแซลมอน อุดมไปด้วยโปรตีน กรดไขมันโอเมก้า 3 และวิตามินดี ซึ่งช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี
- มะระขี้นก มีสารซาแรนตินที่มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินให้มากขึ้นเพื่อมาต่อสู้กับน้ำตาลที่อยู่ในเลือด
- ข้าวโอ๊ต เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป
4 อาหารน้ำตาลสูงที่ควรหลีกเลี่ยง
- อาหารที่ใส่น้ำตาลทรายขาว เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม และเยลลี่
- อาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง และมัน ควรจำกัดปริมาณที่รับประทาน
- ผลไม้น้ำตาลสูง อาทิ มะม่วง ทุเรียน ลำไย และขนุน
- นม ทุกชนิดของนมล้วนมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตที่อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว การออกกำลังกาย การพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคเบาหวานเช่นกัน หากพบอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้