SCBX ปิดดีลขาย Robinhood ให้กับกลุ่มทุนไทย รับเงินสดทันที 400 ล้านบาท และมีโอกาสรับเพิ่มสูงสุด 2,000 ล้านบาทตามผลประกอบการ
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 SCBX ประกาศปิดตัวแอป Robinhood ฟู้ดดิลิเวอรีลง เนื่องจากเผชิญกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่สูงในตลาดและโมเดลธุรกิจที่ทำกำไรได้ยาก รายได้ของ Robinhood นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการนั้นมีดังนี้:
- ปี 2563: รายได้ 0.08 ล้านบาท ขาดทุน 88 ล้านบาท
- ปี 2564: รายได้ 16 ล้านบาท ขาดทุน 1,335 ล้านบาท
- ปี 2565: รายได้ 538 ล้านบาท ขาดทุน 1,987 ล้านบาท
- ปี 2566: รายได้ 724 ล้านบาท ขาดทุน 2,156 ล้านบาท
รวมแล้ว Robinhood มีผลขาดทุนกว่า 5,566 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี
ในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 SCBX บันทึกค่าใช้จ่ายครั้งเดียวจากการยุติการให้บริการ Robinhood เป็นจำนวน 8,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายหลัง SCBX ตัดสินใจเปลี่ยนแผน โดยแทนที่จะปิดแอปถาวร พวกเขากลับเลือกขายธุรกิจแทน เนื่องจากมีผู้สนใจยื่นข้อเสนอเข้าซื้อกิจการอยู่หลายราย
ล่าสุด SCBX ได้ประกาศขาย Robinhood อย่างเป็นทางการให้กับกลุ่มทุนที่นำโดย “กลุ่มยิบอินซอย” และพันธมิตร โดยแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นดังนี้:
- กลุ่มยิบอินซอย 50%
- บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป 30%
- บริษัท เอสซีที เรนทอล คาร์ 10%
- บริษัท ล็อกซบิท จำกัด (มหาชน) 10%
ดีลนี้มีมูลค่ารวมสูงสุด 2,000 ล้านบาท โดย SCBX จะได้รับเงินทันที 400 ล้านบาท และส่วนที่เหลือสูงสุดไม่เกิน 1,600 ล้านบาทขึ้นอยู่กับผลประกอบการของ Robinhood ในอนาคต
กลุ่มยิบอินซอย ซึ่งเป็นธุรกิจเก่าแก่ที่ดำเนินการในไทยมานานกว่า 100 ปี ปัจจุบันประกอบธุรกิจหลากหลายไม่ว่าจะเป็น IT Digital Solutions, High Technology, Trading & Manufacturing, และ Insurance Broker ในปี 2566 กลุ่มยิบอินซอยมีรายได้รวม 5,836 ล้านบาท และมีกำไร 129 ล้านบาท
การขาย Robinhood ในครั้งนี้ช่วยให้ SCBX สามารถหยุดการขาดทุนเพิ่มเติมและได้รับเงินทุนคืนกลับมา ทั้งนี้ก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าภายใต้การบริหารใหม่ของกลุ่มยิบอินซอยและพันธมิตรนั้น Robinhood จะสามารถพลิกฟื้นผลประกอบการให้กลับมาดีได้อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกลยุทธ์ค่า GP ที่เป็นจุดขายสำคัญของแอป ขณะเดียวกันยังต้องจับตาดูว่า Robinhood จะสิ้นสุดการขาดทุนได้เมื่อไหร่ ซึ่งคำตอบนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มยิบอินซอยและพันธมิตรที่จะนำธุรกิจไปต่อยอดในอนาคต