รู้จักกับ “ปลาหมอคางดำ” สายพันธุ์ต่างถิ่นที่คุกคามระบบนิเวศน้ำจืดของไทย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่กระจายของ “ปลาหมอคางดำ” หรือ Blackchin tilapia ในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศและอาชีพประมงของชาวบ้าน ปลาหมอคางดำถือเป็นสปีชีส์ต่างถิ่นที่มีความอันตรายและก่อให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงแก่แหล่งน้ำจืดในประเทศ
ความเป็นมาและลักษณะของปลาหมอคางดำ
ปลาหมอคางดำ มีรูปร่างและลักษณะคล้ายคลึงกับปลาหมอเทศ โดยมีต้นกำเนิดจากทวีปแอฟริกา เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งในแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนชนิดอาหารได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงชั่วโมงเดียว และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วทุกๆ 22 วัน
การเข้ามาในประเทศไทย
– ปี 2549: คณะกรรมการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง อนุญาตให้บริษัทแห่งหนึ่งนำเข้าปลาหมอคางดำจากกานา เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล
– ปี 2553: บริษัทดังกล่าวนำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว แต่ปลาส่วนใหญ่ตายภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลา
– ปี 2555: เกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงครามพบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำเป็นครั้งแรกในบ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อน้ำ
– มีนาคม 2561: กรมประมงประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกหรือปรับสูงสุดถึง 1 ล้านบาท
สถานการณ์ปลาหมอคางดำในปี 2567
ปัจจุบันปลาหมอคางดำ ได้เผยแพร่อยู่ในแหล่งน้ำไทยหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคใต้ จังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช ซึ่งในโซเชียลก็ได้มีการเผยแพร่วิดีโอและภาพฝูงปลาหมอคางดำให้เห็นอยู่หลายครั้ง ทำให้หลายภาคส่วนของรัฐรีบเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ล่าสุดสำนักงานประมง จังหวัดสงขลา ได้โพสต์เฟซบุ๊กประกาศจับจับปลาหมอคางดำ เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร โดยผู้ใดพบเจอปลาชนิดนี้ให้ติดต่อและแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา หรือสำนักงานประมงอำเภอใกล้บ้าน โทร. 0-7431-1302
ปัญหาและผลกระทบจากปลาหมอคางดำ
– เนื่องจากมีนิสัยดุร้ายและกินอาหารตลอดเวลา ปลาหมอคางดำจึงแย่งอาหารและทำให้ปลาพื้นเมืองค่อยๆ สูญพันธุ์ไป
– การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของปลาหมอคางดำส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและสมดุลของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำจืด
– สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรและชาวประมงที่ประกอบอาชีพในพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ